การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่
๓ พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ปกครองประเทศอินเดียในสมัยนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก
พระองค์ได้ทรงให้ความอุปถัมภ์โดยทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่
๓ ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๖ ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ
เมืองปัตนะเมืองหลวงของรัฐพิหาร) ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานหลังจากสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยเสร็จสิ้นแล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้จัดคณะพระธรรมทูตออกเป็น
๙ คณะแล้วส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ดังนี้
สายที่ ๑ มีพระมัชฌันติกเถระเป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ณ แคว้นกัษมิระ คือ รัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดียปัจจุบัน และ แคว้นคันธาระ
ในปัจจุบัน คือ รัฐปัญจาป ทั้งของประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน
สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระ
เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมหิสมณฑ ปัจจุบัน ได้แก่
รัฐไมเซอร์ และ ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี
ซึ่งอยู่ในตอนใต้ประเทศอินเดีย
สายที่ ๓ พระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ในปัจจุบัน ได้แก่ ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระ หรือ พระโยนกธรรมรักขิตเถระ (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกในชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา) เป็นหัวหน้าคณะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบทปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือดินแดนแถบชายทะเลเหลือเมืองบอมเบย์
สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ ปัจจุบัน ได้แก่ รัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย
สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเอเซียกลาง ปัจจุบัน ได้แก่ ดินแดนที่เป็นประเทศอิหร่านและตุรกี
สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือ พระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และ พระเทวเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัยสันนิษฐานว่า คือ ประเทศเนปาล สายที่ ๘ พระโสณเถระ และ พระอุตตรเถระเป็นหัวหน้าคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบัน คือ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นต้น สายที่ ๙ พระมหินทเถระ (โอรสพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือ พระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ และ พระหัททสารเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้า เทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีปปัจจุบัน คือ ประเทศศรีลังกา
พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทย ๔ ยุค คือ
ยุคที่ ๑ ยุคเถรวาทแบบพระเจ้าอโศกมหาราช นับแต่ช่วงเวลาที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่ โดยคณะพระสมณทูตสายที่หนึ่งมี พระโสณเถระ และ พระอุตตรเถระเป็นประธานได้เดินทางมา เผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ หลักฐานที่พบในประเทศไทยขุดค้นพบที่จังหวัดนครปฐม คือ ศิลารูปธรรมจักรกับกวางหมอบ แท่นสถูป อันเป็นสิ่งเคารพบูชาเหมือนกับสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ยุคที่ ๒ ยุคมหายาน ประมาณ พ.ศ. ๖๒๐ พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนา ครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายานที่เมืองชลันธร และ ได้ส่งคณะพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในเอเชียกลางจนถึงประเทศจีน และ จากจีนก็เผยแผ่ต่อมายังอาณาจักรอ้ายลาว ซึ่งในอดีตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศไทย พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตรา ได้ขยายอำนาจเข้ามาถึงดินแดนตอนใต้ของไทย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนแถบนี้ด้วยหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (องค์เดิม) พระพุทธรูป เทวรูปหล่อ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
และพระพิมพ์ต่าง ๆ ยุคมหายาน ในระหว่าง พ.ศ. ๑๔๕๔–๑๗๒๕
ขอมมีอำนาจเข้ามาครอบงำแผ่นดินประเทศไทย ขอมนับถือนิกายมหายาน
เมื่อมีอำนาจทำให้อิทธิพลของมหายานครอบคลุมไปทั่ว เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามหายานรุ่งเรือง จึงทำให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาทั้งสองแบบและศาสนาพราหมณ์ผสมผสานกันไป
ยุคที่ ๓ ยุคเถรวาทแบบพุกาม เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐
พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งพม่ามีอำนาจ ทรงตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพุกาม ทรงแผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมมาถึงดินแดนตอนเหนือของไทย คือ ล้านนา ลงมาถึงลพบุรีและทวราวดี พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามซึ่งเป็นสายที่มาจากเมืองมคธ ประเทศอินเดีย จึงครอบงำคนไทยแถบนั้นไปด้วย คนไทยจึงหันไปนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามอีก แต่อย่างไรก็ดี คนไทยฝ่ายใต้ลงมาส่วนใหญ่คงนับถือฝ่ายมหายานอยู่
ยุคที่ ๔ เถรวาทแบบลังกาวงศ์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๘
พระเจ้าปรักกมพาหุแห่งประเทศลังกาได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ได้อาราธนาพระมหากัสสปะชำระสะสางพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาก็กลับรุ่งเรือง มีชื่อเสียงไปไกลประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วไปต่างก็สนใจพากันเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและได้รับการอุปสมบทใหม่ที่นั่น
ครั้นศึกษาจนจบแล้วก็กลับบ้านเมืองของตน ๆ เฉพาะประเทศไทยเรา พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์นี้ได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น